วันอังคารที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

The Open Computing Alliance (OCA) เตือนผู้ประกอบการณ์เรื่องโปรแกรมลิขสิทธิ์






เมื่อเร็วๆ นี้ The Open Computing Alliance (OCA) ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศด้านทรัพย์สินทางปัญญา
ได้ออกแถลงการณ์โดยมีเนื้อหาสำคัญเกี่ยวเนื่องกับการเคารพสิทธิด้านทรัพย์สินทางปัญญาในประเทศไทย
และได้ปรับเปลี่ยนเป้าหมายไปที่กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน โดยจะกระตุ้นเตือนให้ผู้ประกอบการ
หันมาใส่ใจการบริหารจัดการสินทรัพย์ซอฟต์แวร์ภายในองค์กรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น


เนื่องจากในการตรวจค้นการใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ภายในองค์กรธุรกิจของไทยเมื่อปีที่ผ่านมา กองบังคับการ
ปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) พบว่ามีผู้ประกอบการในเครือธุรกิจรถยนต์
จากประเทศญี่ปุ่น หรือเป็นผู้รับจ้างผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในระบบ OEM (Original Equipment Manufacturer) จำนวนมาก
ที่มีการใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ซึ่งเป็นเป้าหมายของการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางธุรกิจที่ไม่เป็นธรรม (Unfair Competition Act - UCA)


นายไมเคิล มัดด์ เลขาธิการ OCA ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ได้กล่าวเตือนผู้ผลิตและส่งออกในประเทศญี่ปุ่น
และบริษัทลูกที่ทำกิจการอยู่ในประเทศจีน ไทย และทั่วภูมิภาคเอเชียให้ตระหนักและรับรู้ถึงการใช้กฎหมาย UCA
ซึ่งมีข้อกำหนดให้ประเทศคู่ค้าจำเป็นต้องใช้ผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์ที่ถูกกฎหมายในทุกขั้นตอนการประกอบธุรกิจ
มิฉะนั้นจะเกิดความเสี่ยงต่อการส่งสินค้าไปจำหน่ายในตลาดสหรัฐฯ


นอกจากนี้ เมื่อเร็วๆ นี้ อัยการรัฐแคลิฟอร์เนียได้ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อดำเนินคดีกับบริษัทผู้ผลิตเสื้อผ้าในประเทศจีน
และอินเดียฐานที่มีการใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ในการประกอบธุรกิจ ซึ่งภายใต้กรอบกฎหมาย UCA ถือว่าเป็นการ
ฉกฉวยความได้เปรียบทางธุรกิจกับผู้ประกอบการอื่นๆ ที่ปฏิบัติตามกฎหมายลิขสิทธิ์ โดยทั้งสองบริษัทเป็นบริษัทสิ่งทอ
ในจีนและอินเดียชื่อ Ningbo Beyond Home Textile และ Pratibha Syntex ตามลำดับ


ตามรายงานของพันธมิตรซอฟต์แวร์ หรือ บีเอสเอ (BSA | The Software Alliance) ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ทั่วโลกในปี 2554
มีมูลค่าราว 63,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยพบว่าประเทศจีนซึ่งมีภาคอุตสาหกรรมการผลิตที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีอัตราการ
ละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์สูงถึง 77% นอกจากนี้ยังพบว่าการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในประเทศอินโดนีเซียมีอัตราสูงถึง 86% ประเทศเวียดนาม 81% และในประเทศไทย 72%


พ.ต.อ.ชัยณรงค์ เจริญไชยเนาว์ รองผู้บังคับการและโฆษก บก.ปอศ. กล่าวว่า ในฐานะผู้บังคับใช้กฎหมาย รู้สึกเป็นห่วง
ผู้ประกอบการไทย รวมถึงผู้ประกอบการต่างชาติที่มีฐานการผลิตอยู่ในประเทศไทย ดังนั้นองค์กรธุรกิจจึงต้องมีการเตรียม
ความพร้อมในการตรวจสอบระบบเทคโนโลยีสารสนเทศภายในองค์กรให้เป็นไปตามกฎหมายลิขสิทธิ์ของไทย ซึ่งก็เพียงพอที่จะปกป้องตนเองจากกฎหมายของทางการสหรัฐฯ


นางสาววิรามฤดี โมกขะเวส ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย บริษัท ติลลิกีแอนด์กิบบินส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กล่าวว่า กฎหมาย UCA จะส่งเสริมความได้เปรียบทางการค้าให้กับผู้ผลิตและผู้ส่งออกที่ใช้ซอฟต์แวร์ที่ถูกกฎหมายในการทำธุรกิจ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว

บริษัทใดก็ตามที่ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศไทยก็ถือว่าได้กระทำการอย่างพอเพียงแล้วที่จะอยู่ภายใต้กรอบกฎหมาย UCA และจะได้รับประโยชน์ในการแข่งขันทางธุรกิจและได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ


อย่างไรก็ตาม อัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในประเทศไทยได้ลดลงจากประมาณ 80% เมื่อปี 2549 
มาอยู่ที่ประมาณ 72% ในปี 2554 ซึ่งเป็นอัตราการลดลงเร็วที่สุดเป็นอันดับ 2 ในเอเชียแปซิฟิก เป็นรองเพียงประเทศฮ่องกงเท่านั้น.


Credit : thairath.co.th